บทความแนะนำ เช็คอินประเทศไทย เที่ยวทั่วไทย
ชมทุ่งโปรงทอง เยือนระยองเมืองกวี เรียนรู้วิถีชีวิตประมงชุมชนเนินฆ้อ
ชุมชนเนินฆ้อ
หากเอ่ยถึงทุ่งโปรงทอง หลายคนคงจะคุ้นหูกันเป็นอย่างดี เพราะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่ง ที่เหมาะกับการไปเดินชิลล์ กินลม ชมทะเล สูดอากาศบริสุทธิ์ เป็นอย่างยิ่ง และที่สำคัญคือไม่ไกลจากกรุงเทพมากนัก ซึ่งในทริปนี้เรายังจะพาเพื่อนๆไปสัมผัสและเรียนรู้วิถีชีวิตประมงของชุมชนชาวเนินฆ้อ อำเภอแกลงจังหวัดระยองอีกด้วย
เช้าตรู่ของวันศุกร์ ที่ 12 สิงหาคม 2559 วันแม่แห่งชาติ เป็นช่วงวันหยุดยาวที่หลายๆคนถือโอกาสนี้พาคุณแม่และครอบครัวไปเที่ยวพักผ่อนตามสถานที่ต่างๆ อย่างที่ได้วางแผนเอาไว้แล้ว
เราเองก็เช่นกัน หยุดยาวอย่างนี้ เลยถือโอกาสไปเที่ยวสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งอยากจะไปตั้งนานล่ะ แต่ยังไม่ได้ไปซักที ซึ่งก็คือ ทุ่งโปรงทอง อันเลื่องชื่อนั่นเอง อย่างที่บอกว่าอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพเท่าไหร่ ขับรถขำๆ แค่ 3ชั่วโมงก็ถึงล่ะ
ไม่ต้องกลัวไปไม่ถูก…ใช้ GPS นำทางไปง่าย..ไม่มีหลง ถึงที่หมายแน่นอน
เราขับรถไปเองใช้เส้นทางหลวงหมายเลข34 (บางนา-บางปะกง) วิ่งตรงไปเรื่อยๆ จนถึงชลบุรี จากนั้นแยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 344 วิ่งตรงอย่างเดียว ใช้เวลาประมาณ 3ชั่วโมงนิดๆ ก็ถึงระยองแล้ว
สถานที่แรกที่เราจะไปชมก็คือ อนุสรณ์เรือหลวงประแส ในระหว่างการเดินทาง เราก็ขับช้าๆ ชิลล์ไปเรื่อยๆ ไม่รีบร้อน หิวก็หยุดกิน กระหายก็แวะดื่ม…ไปแบบ Slow Life ในสไตล์คน Low Cost ^^’
จานนี้รองท้องก่อน…..เดี๋ยวถึงระยองค่อยหาร้านซีฟู้ดอร่อยๆทาน
จานนี้แก้ง่วง เผ็ดๆเปรี้ยวๆ แซ่ปซ่านถึงทรวงเลยหล่ะ…ขอบอก
จัดชาเย็นต้นตำรับอีกซักแก้ว เอาไว้ดื่มแก้เผ็ดต่อในรถ…แค่นี้ก็ฟินล่ะ
เราขับรถผ่านตัวเมืองระยอง ตาม GPS มาเรื่อยๆ เส้นทางก่อนจะถึง อนุสรณ์เรือหลวงประแส จะเป็นซอยเล็กๆ ลัดเลาะไปตามหมู่บ้าน จะมีป้ายบอกทางตามแยก ตามจุดเลี้ยวตลอดทาง และในที่สุดเราก็มาถึงจุดหมายแล้ว…ไปชมความยิ่งใหญ่ของเรือหลวงประแสกันเลย
เรือหลวงประแส เรือรบหลวงเก่าที่ปลดประจำการจากสงครามเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ เป็นอนุสรณ์สถานที่มีประวัติศาตร์สำคัญควรค่าแก่การรำลึกถึงราชนาวีไทย ปัจจุบันกลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญของชาวชุมชนปากน้ำประแส หากใครมาท่องเที่ยวที่ระยอง อย่าลืมแวะมาเยี่ยมชมความยิ่งใหญ่ของราชนาวีไทย อนุสรณ์เรือหลวงประแส ตั้งอยู่บริเวณหัวโขด ชายหาดประแส หมู่ที่ 1 ตำบลปากน้ำประแส อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ซึ่งสภาพภูมิทัศน์โดยรอบก็ถูกปรับปรุงให้สวยงาม และยังมีร้านค้าร้านอาหารไว้คอยให้บริการนักท่องเที่ยวมากมายหลายร้านเลยหล่ะ
หลังจากชมความยิ่งใหญ่ของเรือหลวงประแสแล้ว เราก็จะมุ่งหน้าไปยังจุดไฮไลท์ของเราในทริปนี้ นั่นก็คือทุ่งโปรงทอง ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากอนุสรณ์เรือหลวงประแสมากนัก ขับรถไปไม่เกิน 15 นาทีก็ถึงล่ะ
ถึงแร้ว!!..ทุ่งโปรงทอง นี่ก็เกือบบ่ายแล้ว เราเข้ามาจอดรถ ซึ่งเป็นที่ของเอกชน ค่าจอดคันละ 20บาท..ว่าแต่นี่ก็บ่ายแล้วชักเริ่มหิว เราขอแวะเติมพลังก่อนนะ จะได้มีแรงเดินชมทุ่งโปรงทองสวยๆได้นานๆ โดยบ่ายนี้เราฝากท้องไว้กับร้านนี้เลย ตำทุ่งโปรงทอง ตั้งอยู่ในบริเวณที่จอดรถนี่แหละ
เขาว่า…อย่าให้คนหิวจัด..สั่งอาหาร…กินสองคนกับเพื่อน…เล่นเอาซะจุกเลยเหมือนกัน
อิ่มแล้ว…ไปต่อได้ ประมาณเกือบบ่ายสอง ได้เวลาไปชมทุ่งโปรงทองแล้ว ที่นี่จะมีรถรับส่ง สำหรับพาเราไปยังทุ่งโปรงทอง ค่าบริการคนละ 5 บาท ระยะทางประมาณ 500เมตร ส่วนใครจะเดินไปก็ได้นะ…เขาไม่ว่า
ทุ่งโปรงทองแห่งนี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ ซึ่งถือเป็นที่ให้ความรู้และความเข้าใจในระบบนิเวศป่าชายเลน โดยจะมีสะพานไม้ทอดยาวลัดเลาะไปตามป่าชายเลน ให้เราได้สัมผัสกับธรรมชาติ สูดอากาศบริสุทธิ์พร้อมกับชมความงามของป่าโกงกาง และป่าโปรงใบสีเขียวอ่อน ที่พอสะท้อนรับกับแสงแดดในยามบ่าย กลายเป็นทุ่งสีทองอร่าม จึงเป็นที่มาของคำว่า “ทุ่งโปรงทอง”
จากท่าเรือแสมผู้ เดินตามสะพานมาไม่ไกลนัก เราก็จะเจอลานระเบียงไม้ซึ่งเป็นลานกว้างพอสมควร เป็นจุดไฮไลท์สำหรับชมทุ่งโปรงทอง
วันแม่: คุณลูกคุณแม่เซลฟี่กับทุ่งโปรงทอง
นางแบบตัวน้อยแจกรอยยิ้มสดใสให้กับเรา
จากจุดชมทุ่งโปรงทอง เดินตามสะพานไม้ไปเรื่อยๆ ก็จะมีจุดพักต่างๆ มีบอร์ดเรียนรู้ให้เราได้พักและศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนไปด้วย สะพานไม้นี้จะไปสิ้นสุดที่อนุสรณ์เรือหลวงประแส ระยะทางประมาณ 2.6 กิโลเมตร
สะพานไม้บางจุดอาจมีชำรุดบ้าง เดินช้าๆและระมัดระวังกันด้วยนะ
ทุ่งโปรงทอง เปิดให้เข้าชมตั้งแต่ เวลา 06.00-18.00 น. ไม่เก็บค่าบริการ แต่จะมีตู้รับบริจาคอยู่ตรงบริเวณสะพานท่าเรือแสมผู้ หากสะดวกก็ร่วมกันบริจาค คนละเล็กคนละน้อย สำหรับช่วยซ่อมบำรุงสะพาน เราจะได้มีสะพานดีๆ ไว้เดินชมความงามของธรรมชาติกันอีกนานๆนะจ๊ะ
เดินชมทุ่งโปรงทองจนจุใจก็ค่ำพอดี เราจะพาไปอีกที่ๆหนึ่ง ที่ชาวปากน้ำประแสชอบไปชิลล์กันในตอนเย็นๆ นั่นก็คือ สะพานประแสสิน ซึ่งเป็นจุดชมวิวที่ไม่ควรพลาดอีกเช่นกัน
รับลมชมวิวบนสะพานประแสสินและเก็บภาพสวยๆเสร็จแล้ว เราก็ขับรถไปรีสอร์ทสำหรับพักผ่อนในคืนนี้เราพักที่ พัฒนารีสอร์ท คืนละ800บาทครับ
สุขสันต์วันแม่แห่งชาติ สำหรับค่ำคืนนี้ ราตรีสวัสดิ์ครับ 😀
——————————-
อรุณสวัสดิ์ชาวเนินฆ้อ
เช้าวันที่13 สิงหาคม 2559 เราออกจากโรงแรมแต่เช้าเพื่อมาเจอลุงสำออย ซึ่งวันนี้คุณลุงจะมาเป็นไกด์นำเที่ยวให้กับเรา สถานที่จุดแรกที่เราจะไปวันนี้คือไปชมทะเลแหวก และศูนย์อนุรักษ์เต่าทะเล เกาะมันในครับ ซึ่งในระหว่างทางเราก็จะมีโอกาสได้เห็นภาพการทำประมงพื้นบ้านตามชายฝั่งของชาวเนินฆ้อเป็นระยะๆครับ
การไสเคย
ชาวบ้านกำลังทอดแห
เก็บปู
ออกเรือไปหาปลา
พ่อแม่ลูกช่วยกันทำมาหากิน แบบพออยู่พอกิน
นั่งเรือเล็กของลุงออย ออกจากฝั่งมาราวชั่วโมงกว่าๆ ก็จะถึงเกาะมันในครับ คุณลุงพาเรามาดูทะเลแหวก ซึ่งสวยและน่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว
ทะเลแหวก จะเป็นสันทรายทอดยาวลงไปในทะเล เมื่อน้ำทะเลลดระดับลง เราก็จะเห็นเป็นทะเลแหวก สวยงามดีทีเดียว
ทะเลแหวกที่เกาะมันใน ไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวมามากนัก ตอนเราไปนี่ยังไม่มีใครมาเลย….ก็ฟินอะดิ
นกทะเลก็มาเดินเล่นเป็นเพื่อนเรา
เราเดินลงไปเกือบสุดแนวสันทรายของทะเลแหวกเลย
นานๆทีถึงจะมีกลุ่มนักท่องเที่ยวผ่านมาบ้าง
คุณลุงสำออยทอดสมอ นั่งส่งยิ้มรอเราอยู่บนเรือไม่ไกลนัก
หลังจากชมทะเลแหวกแล้วเราก็เดินมาประมาณ 500 เมตร ก็จะถึงศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและช่ายฝั่งฯ
ที่นี่ยังเป็นที่ตั้งของโครงการสมเด็จฯ อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล เพื่อศึกษาวิจัยชีววิทยาของเต่าทะเลอนุรักษ์ และเพิ่มจำนวนโดยการเพาะขยายพันธุ์ปล่อยสู่ทะเลตามธรรมชาติ โดยวิธีนำไข่เต่าทะเล ซึ่งส่วนใหญ่ได้จากเกาะคราม อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ในความดูแลของกองทัพเรือ นำมาเพาะฟัก และอนุบาล เมื่อลูกเต่ามีอายุประมาณ 6 เดือน จะติดเครื่องหมายเพื่อติดตามผล นำปล่อยลงสู่ทะเล ลูกเต่าส่วนหนึ่งนำไปเลี้ยงไว้เป็นแม่พันธุ์พ่อพันธุ์ต่อไป
พ่อแม่พันธุ์ ตัวใหญ่มาก
บ่ออนุบาลเต่า
บ่ออนุบาลลูกเต่า
นอกจากนี้ที่นี่ยังมี พิพิธภัณฑ์เต่าทะเล ที่จัดแสดงนิทรรศการของเต่าทะเลหลากหลายประเภท มีโครงกระดูกของโลมาและโครงกระดูกของเต่าทะเลให้เราได้ดูอีกด้วย
หลังจากนั้นเรานั่งเรือกลับขึ้นฝั่ง คุณลุงพามาดูศูนย์เรียนรู้วิถีชีวิตชาวประมงชุมชนเนินฆ้อ ซึ่งลุงออยก็ได้เล่าให้เราฟังถึงที่มาที่ไปของศูนย์แห่งนี้ด้วย
ลุงออยบอกว่า เมื่อก่อนนี้ชาวบ้านทำอาชีพประมงและทำนาไปด้วย เมื่อราวๆปี 2540 ชาวบ้านเนินฆ้อประสบปัญหาจากนายทุนเข้ามาทำนากุ้งทำให้น้ำเสียดินเค็ม พอหันมาทำประมงเต็มตัว แต่ก็มีเรือประมงพาณิชย์เข้ามาจับสัตว์น้ำในพื้นที่ ทำให้เครื่องมือของชาวบ้านสูญหาย อวนที่ลอยทิ้งไว้ เรือใหญ่มาลากเอาไปหมด จำนวนสัตว์น้ำก็ร่อยหรอลงจนแทบหมด จากปัญหาดังกล่าว ลุงออย จึงได้รวมกลุ่มชาวบ้านลุกขึ้นพูดคุยถึงปัญหา เพื่อหาแนวทางจัดการทรัพยากรบริเวณของชุมชนของเขา ปี 2545 จึงตั้งกลุ่มประมงขึ้นมาเพื่อพูดคุยกันถึงการแก้ปัญหาในวันที่ 14 บ่ายโมงตรงของทุกๆเดือน แต่ลุงเองก็บอกว่าถ้าคุยเฉพาะแต่ชาวบ้านคงไม่เกิดประโยชน์อะไร จึงทำหนังสือเชิญหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมรับฟังปัญหาในแต่ละครั้งด้วย
จนกระทั่งปี 2549 เทศบาลตำบลเนินฆ้อ มองเห็นความสำคัญของกลุ่ม เลยคิดว่าควรมีการจัดการทำให้เป็นรูปธรรมชัดเจน จึงมีการจัดตั้ง “ กลุ่มประมงพื้นบ้านเนินฆ้อโครงการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง” โดยมีการทำงานร่วมกันกับ กรมทรัพยากรฯ เทศบาลเนินฆ้อ กลุ่มวิจัยทรัพยากรทะเลชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก
จนมี “โครงการบ้านปลา ธนาคารปู”
บ้านปลา เป็นการทำปะการังเทียมในรูปแบบต่างๆเพื่อเป็นแหล่งอนุบาลให้สัตว์น้ำวัยอ่อนได้หลบซ่อนตัว เช่น เต๋ายางรถยนต์ ซั้งจากเชือก และแท่งปูนรูปสี่เหลี่ยม โดยเทศบาลฯ ให้งบประมาณมาก้อนหนึ่ง หลังจากนั้นจึงเริ่มนำไปวางตามที่กำหนดไว้ โดยมี สำนักงานบริการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่1 (สบทช.) เป็นผู้สนับสนุนในเรื่องของการวางบ้านปลา โดยตั้งห่างจากชายฝั่งออกไปราว 1.5 กิโลเมตร
ธนาคารปู คือการทำกระชังตาข่าย หากชาวบ้านจับปูไข่ได้ ก็จะเอามาฝากไว้ในกระชัง 2 วัน ปูจะปล่อยไข่ทั้งหมดให้ลอยไปตามธรรมชาติเกิดเป็นลูกปูจำนวนมากกลับลงสู่ทะเลแล้วค่อยนำแม่ปูกลับไปขาย
จนกระทั่งตัวแทนของ เอสซีจี เคมิคอลส์ ทราบว่าทางชุมชนมีโครงการบ้านปลาและบ้านปู เลยเสนอวัสดุซึ่งเป็นท่อส่งน้ำประปา ที่เหลือจากการทดสอบ มาดัดแปลงทำเป็นบ้านปลา ชาวบ้านก็ลงมติเห็นด้วย เพราะทำง่ายกว่าแท่งปูน แถมยังขนย้ายสะดวก ไม่ยุบตัว และวัสดุผ่านการทดสอบเรื่องกลิ่นหรือสารปนเปื้อนจากผู้เชี่ยวชาญ พบว่า ปลอดภัยไม่มีสารเคมีที่อันตรายออกมาสู่น้ำทะเล และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีคุณสมบัติที่ทนต่อการกัดกร่อนและแรงดันได้สูง ทำให้มีอายุใช้งานได้นาน ซึ่งทาง เอสซีจี เคมิคอลส์ ได้แนะนำวิธีสร้างบ้านปลาและสนับสนุนท่อสำหรับทำบ้านปลาให้กับชุมชนเนินฆ้อแห่งนี้ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 5 แล้ว
บ้านปลาที่ทำจากท่อ PE100
ลักษณะของการวางแนวบ้านปลา
ลุงออย เล่าต่อว่า ชาวบ้านได้มานั่งประชุมและวางกรอบกติการ่วมกัน ในกรอบของประชาคมชาวบ้าน “มีการออกมติห้ามไม่ให้หากินบริเวณที่ตั้งของบ้านปลา และควบคุมเรื่องเครื่องมือ ทำลายล้าง” และต้องมีการจับสัตว์น้ำตามฤดูกาลเท่านั้น ลุงบอกว่าหลังจากนั้นชาวบ้านสามารถจับปูได้เยอะมากจนกระทั่งบางช่วงถึงกับล้นตลาด จนต้องทำการแปรรูปในแบบต่างๆ เลยทีเดียว
จะเห็นได้ว่าการแก้ปัญหานั้น จำเป็นต้องมีความร่วมมือกันจากทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็น ชุมชน ภาครัฐ และเอกชน หากร่วมมือกันแล้วก็จะทำให้ชุมสารมารถอยู่ได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืนอย่างแน่นอน
ภายในศูนย์แห่งนี้ยังมีการจัดนิทรรศการให้ความรู้ในเรื่องของการทำประมงพื้นบ้านและวิถีชุมชนของชาวเนินฆ้อแห่งนี้อีกมากมาย
นิทรรศการ จัดแสดงวัฐจักรของวิถีชุมชนและการทำประมงตามฤดูกาล
บ้านปลาแบบต่างๆ
ลุงออยพาชมศูนย์ฯ เสร็จก็บ่ายพอดี ใกล้ๆกับศูนย์ฯ จะมีรีสอร์ทและร้านอาหารทะเลด้วยนะ เดินไปประมาณ 200 เมตร อยู่ติดริมทะล ด้านหน้าเป็นหาดทรายขาวๆ โล่งๆ บรรยากาศดีทีเดียว เราเลยชวนคุณลุงไปทานข้าวด้วยกัน
เช่นเคย…เมื่อคนหิวจัดสั่งอาหาร….เลยเป็นอย่างที่เห็นนี่แหละครับ ทานกันอยู่ 3 คน
อาหารทะเลสดใหม่ อร่อยทุกเมนูเลย…จริงๆนะ ^0^
เติมพลังกันจนล้นเรียบร้อยแล้ว ลุงออยยังพาเราไปอีกที่ๆหนึ่ง ที่น่าสนใจ นั่นก็คือ โครงการบ้านปูแสม อยู่ไม่ไกลจากศูนย์ฯ มากนัก ขับรถประมาณ 15 นาทีก็ถึงครับ ซึ่งที่นี่จะมีจุดที่น่าไปเช็คอิน นั่งชิลล์ๆ บริเวณระเบียงไม้ที่ สะพานรักแสม
ที่แห่งนี้เป็นเขตอนุรักษ์และเพาะพันธุ์สัตว์ ซึ่งเกิดจากการรวมกลุ่มของชาวบ้านและสมาชิกเครือข่าย ที่ต้องการจะอนุรักษ์และเพิ่มจำนวนสัตว์น้ำในช่วงฤดูวางไข่ และการดูแลรักษาผืนป่าชายเลนซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำให้มีความอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะปูแสม จึงมีการสร้างธนาคารปูเพื่อเพาะขยายพันธุ์ให้มีจำนวนเพิ่มขึ้น เมื่อสมาชิกจับปูแสมที่มีไข่ก็จะนำมาขายให้กลุ่มในราคาถูก และนำมาปล่อยในคอกที่ล้อมรอบด้วยกระเบื้องปักเรียงกันไว้ และเจาะช่องใส่ตาข่ายเหล็กเอาไว้ สำหรับให้ไข่ปูสามารถหลุดลอยไปกับน้ำตามธรรมชาติได้ ส่งผลให้ปริมาณปูแสมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก และในปี พ.ศ. 2554 ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากจังหวัดระยองเพื่อก่อสร้าง สะพานรักแสม และสะพานไม้เดินชมทัศนียภาพและระบบนิเวศน์คลองท่าตาโบ๊ย โดยตัวสะพานแขวนยาว 100 เมตร และสะพานไม้สำหรับเดินชมทัศนียภาพอีกยาว 200 เมตร จนกลายเป็นที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่อีกที่หนึ่งที่น่าไปเยี่ยมชม
ป่าชายเลนเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ ปูกินใบโกงกางเป็นอาหาร และขุดรูบริเวณราก ทำให้รากมีอากาศถ่ายเท สร้างความเจริญงอกงามให้กับต้นไม้ เป็นการตอบแทน นี่แหละที่เรียกว่า ระบบนิเวศ
ลุงออย ดึงใบโกงกางแล้วโรยลงไป เจ้าปูแสมก็โผล่ออกมาจากรู มากินใบไม้ให้เราเห็นในทันทีเลย
เรานั่งคุยกับลุงออยและพี่มาโนช จนบ่ายแก่ๆ เรารู้สึกได้ถึงความมีจิตสาธารณะและความตั้งใจจริงอย่างแรงกล้าของทั้งสองท่าน ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการริเริ่มรวมกลุ่มของชาวชุมชน เพื่อปกป้องพื้นที่ทำกิน ให้ลูกหลานชาวเนินฆ้อมีอยู่มีกินอย่างยั่งยืนตลอดไป
อ้อ..เพิ่มเติมอีกนิด ตอนที่เราไปเที่ยวนี้ ศูนย์ยังไม่เปิดอย่างเป็นทางการนะ จะเปิดวันที่ 18 สิงหาคม 2559 ซึ่งลุงออยยังบอกอีกว่าเมื่อเปิดแล้ว ทางชุมชนยังมีแพ็คเกจท่องเที่ยวด้วยนะ คร่าวๆมีอยู่ 3 แพ็คเกจด้วยกัน
โปรแกรมที่ 1
ล่องเรือป่าชายเลน ชมนกเหยี่ยวขาวคอแดง มีสะพานรักแสม ซึ่งข้างในเป็นแหล่งอนุบาลปูแสม
แล้วก็ดูวิถีการทำประมงในคลองเนินฆ้อ ล่องไปจนถึงปากน้ำประแส
โปรแกรมที่2
เรียนรู้วิถีประมงพื้นบ้าน ออกทะเล ดูการทำมาหากินของประมงชายฝั่ง แล้วอาจจะนั่งเรือไปชมหินต่อยหอย ทะเลแหวก แล้วก็ไปดูศูนย์เพราะเลี้ยงเต่าทะเลที่เกาะมันใน
โปรแกรมที่3 ตกหมึก
ถ้าเพื่อนๆ อยากไปเที่ยวที่เกาะมันในไปดูทะเลแหวก และศูนย์อนุรักษ์เต่าทะเล ค่าเรือประมาณ 500 บาทเอง
ส่วนบริเวณรอบๆ ชุมชน ก็มีเส้นทางจักรยาน ซึ่งมีกลุ่มจักรยานมาปั่นกันทุกวัน
ไม่ไกลจากนั้นก็มีแหลมแม่พิมพ์ แหลมสน ก็น่าไป
มีกลุ่มแม่บ้าน แปรรูปผลิตภัณฑ์จากทะเล อย่างกะปิ น้ำปลา หาซื้อไปกินไปฝากได้
หากเพื่อนๆ สนในอยากลองท่องเที่ยวและเรียนรู้วิถีชุมชนไปด้วยแบบที่เราไปนี้ ที่ชุมชนชาวเนินฆ้อแห่งนี้ก็น่าสนใจไม่น้อยเลย
ถึงเวลาต้องกลับแล้ว เราดีใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาเที่ยวระยองในทริปนี้ ซึ่งได้ทั้งความสุขพร้อมสาระความรู้ไม่น้อยเลยทีเดียว เราร่ำลาทั้งสองท่าน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโอกาสหน้าจะได้กลับไปเยี่ยมระยองอีกครั้ง
เราขอจบรีวิวไว้เพียงเท่านี้
ขอขอบคุณ ลุงสำออย รัตนวิจิตร ประธานศูนย์การเรียนรู้วิถีประมงชุมชนเนินฆ้อ
โทร.081-383-9468
ขอขอบคุณ พี่มาโนช ยั่งยืน ประธานกลุ่มธนาคารปูแสม บ้านเนินทราย
สุดท้ายนี้ขอขอบคุณเพื่อนๆทุกคนที่ติดตามอ่านรีวิวของเราในครั้งนี้จนจบ หากผิดพลาดประการใด ก็ขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
ฝากติดตามผลงานและทริปต่อๆได้ที่แฟนเพจ “ตากล้อง ท่องเที่ยว”
และเว็ปไซด์ http://www.taklongtonggeaw.com
***************************